ภาวะความคิดที่ดุเดือด

การที่เรามีความคิดในฉบับแบบของเราเป็สิ่งที่ใครๆก็ไม่รู้ใครๆก็ไม่ทราบแต่คนที่รู้คือตัวเราเท่านั้นสำคัญอยู่ที่ว่าจะใช้มันอย่างไร
1.รู้สึกผิดเมื่อคิดจะทำอะไรที่ไม่ดี(จะรู้สึกว่าถึงตอนที่แม่เลี้ยงเราและสอนเราตอนเด็ก)ความรู้สึกนี้จะเข้ามาในหัว
2.รู้สึกสมเพชคนที่เที่ยวเตร่กลางคืน คิดว่าที่จริงแล้วคนเราต้องการความสุขแบบนี้จริงหรือทำไมผมถึงไม่รู้สึกว่ามันสุขเลย
3.เกรงกลัวความผิดเมื่อคิดจะทำสิ่งที่ผิด และรู้สึกว่าจิตใต้สำนึกได้แย้งว่าห้ามทำโดยเด็จขาด
ทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ผิดได้

เรื่องราวของผมอาจฟังดูแปลกแต่ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับผมเกือบตลอด
นอกจากนี้แล้วผมมีความรู้สึกอีกหลายอย่างที่หาคำตอบไม่ได้
บางทีเล่าให้คนอื่นฟังว่ารู้สึกแบบนี้กลายว่าเราเป็นคนแปลกที่ไม่รู้สึกเหมือนเขา
ผมอยากรู้ว่าความรู้สึกทำนองนี้มันคืออะไรครับ

มีหิริ และ โอตตัปปะ สูง ก็ดีแล้ว

การทำไม่ดี นำความทุกข์มาให้ในอนาคต
แสดงว่าคุณ อาจเคยฝึกจิตฝึกใจ มาก่อนเมื่ออดีต(ชาติ) ความคิด การตัดสินใจ เป็นไปตามการที่เคยได้สะสมมา

อดีต กรรม ทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะทำให้เกิดเวทนา เวทนาทำให้ตัณหา ตัณหาทำให้เกิดอุปาทาน อุปาทานทำให้เกิดภพ คือการกระทำกรรมใหม่อีก(กรรมภพ)

ถ้าทำอดีตกรรมไม่ค่อยดีเอาไว้ เช่นเบียดเบียนสัตว์อื่น ส่งผลให้เกิดผัสสะที่ไม่ดี กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เลยได้รับ ทุกข์เวทนาทางกายและทางใจเป็นส่วนใหญ๋ (แทนที่จะเป็นสุข กลับได้ทุกข์ซะมากกว่า)

คุณตระหนักถึง กฏแห่งกรรมอันนี้ นับว่า ดีแล้ว จะได้อยู่รอดปลอดภัย ในวัฏฏสงสาร สืบไป

จัดเป็น นักท่องวัฏฏสงสาร ที่ดี






























วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

อสัญแดหวา

ดุลพินิจของฝ่ายปกครองà

                   บ่อยครั้งผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายมักให้เหตุผลในการตัดสินใจอนุมัติ อนุญาต หรือมีคำสั่งในเรื่องใดๆ ว่าเป็นอำนาจดุลพินิจของผู้มีอำนาจออกคำสั่งทางปกครองตามกฎหมาย หรือให้เหตุผลว่าเพื่อความเหมาะสม หรือเพื่อประโยชน์ต่อทางราชการและประชาชน ทำให้เกิดคำถามอยู่ในใจเสมอว่า ดุลพินิจคืออะไร แล้วอะไรคือความเหมาะสม ทำไมฝ่ายปกครองจึงมีอำนาจดุลพินิจ[๑] การใช้ดุลพินิจมีขอบเขตหรือไม่ และใครมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครอง
                   ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจในหลักกฎหมายปกครองเบื้องต้นเสียก่อนว่าเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ(ฝ่ายปกครอง)กับประชาชน ในลักษณะที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือกว่าในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจมหาชน(อำนาจตามกฎหมาย) เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมและประโยชน์สาธารณะ การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครองจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจใน ๒ ลักษณะ คือ อำนาจผูกพัน[๒](Mandatory Power) และ อำนาจดุลพินิจ (Discretionary Power)[๓]
ดุลพินิจคืออะไร  ดุลพินิจตามความหมายของกฎหมายปกครองหมายความถึง อำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด[๔] จากความหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ใช้อำนาจสามารถเลือกตัดสินใจกระการอย่างใดหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างอิสระ ดังนั้นดุลพินิจของฝ่ายปกครองก็คืออำนาจที่กฎหมายบัญญัติให้ฝ่ายปกครองสามารถเลือกตัดสินใจที่จะกระทำการได้หลายอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีและบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ทำไมกฎหมายจึงต้องกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจ เหตุที่กฎหมายจะต้องกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจ เนื่องจากเป็นข้อจำกัดของฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่อาจจะตรากฎหมายให้มีเนื้อหาสาระครอบคลุมข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ในทุกเรื่องทุกกรณี จึงต้องบัญญัติให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจในการปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ของกฎหมาย การใช้กฎหมายจึงเป็นการนำกฎหมายมาใช้บังคับแก่ข้อเท็จจริงในกรณีเฉพาะเรื่อง ซึ่งเป็นการปรับบทกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยมีหลักเกณฑ์การใช้กฎหมายที่ผู้ใช้กฎหมายต้องพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงนั้นเป็นเรื่องอะไร มีหลักกฎหมายในเรื่องนั้นว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมายนั้นหรือไม่ และถ้าข้อเท็จจริงเข้ากับหลักกฎหมายนั้นแล้วมีผลอย่างไร[๕]
เมื่อใดฝ่ายปกครองจึงมีอำนาจดุลพินิจ ฝ่ายปกครองจะมีอำนาจดุลพินิจก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองเลือกได้หลายทางในการตัดสินใจที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหากตัดสินใจเลือกกระทำการไปทางหนึ่งทางใดโดยมีเหตุผลอันสมควรแล้วถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจดุลพินิจโดยชอบ กรณีที่กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองต้องกระทำการใดเพียงทางเดียว      โดยไม่ให้ฝ่ายปกครองมีทาง
เลือกฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กรณีนี้ ถือว่าฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจดุลพินิจ จึงอาจกล่าวได้ว่าอำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองเกิดขึ้นต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจดุลพินิจฝ่ายปกครองไว้นั่นเอง หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ จะพบว่ามีอยู่หลายมาตราที่บัญญัติให้อำนาจดุลพินิจแก่ฝ่ายปกครอง เช่น ดุลพินิจในการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ในการออกคำสั่งทางปกครอง[๖]  ดุลพินิจในการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองให้มีผลใช้บังคับในเวลาใด[๗]  หรือดุลพินิจในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสม[๘] เป็นต้น สำหรับกรณีที่กฎหมายไม่ให้อำนาจดุลพินิจฝ่ายปกครอง ได้แก่ การอนุญาตตั้งสถานบริการพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องคำนึงถึงประวัติการกระทำความผิดต่อกฎหมายของผู้ขออนุญาตประกอบด้วย[๙]กรณีนี้กฎหมายบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องนำประวัติการกระทำผิดกฎหมายของผู้ขออนุญาตมาประกอบการพิจารณาด้วยจะใช้ดุลพินิจไม่นำมาพิจารณาไม่ได้  หรือกรณีกฎหมายกำหนดเวลาให้ฝ่ายปกครองต้องพิจารณาสั่งการภายในเวลาที่กำหนด[๑๐] ฝ่ายปกครองต้องสั่งการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กฎหมายบัญญัติ หากสั่งการเกินกำหนดเวลาต้องมีเหตุผลเพียงพอว่าเหตุแห่งความล่าช้ามิได้เกิดจากความบกพร่องของตนมิฉะนั้นอาจต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้านั้นได้
ความอิสระในการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองอาจทำให้เข้าใจผิดว่าฝ่ายปกครองสามารถใช้อำนาจดุลพินิจอย่างไรก็ได้โดยไม่มีขอบเขต ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การที่กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจเลือกตัดสินใจได้หลายทางเพื่อต้องการให้ฝ่ายปกครองในฐานะผู้ใช้กฎหมาย สามารถปรับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างสมเหตุสมผล และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและการให้เหตุผลประกอบการพิจารณาตัดสินใจอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นกรอบหรือหลักทั่วไปในการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ดังปรากฏในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้ผู้ทำคำสั่งทางปกครองต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ  ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และ  ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ[๑๑]  ส่วนความอิสระในที่นี้หมายถึง ความอิสระในการตัดสินใจของฝ่ายปกครองโดยปราศจากการแทรกแซงใดๆ ต้องมีความเป็นกลาง มีความโปร่งใส และมีความเป็นธรรม ความอิสระในการใช้ดุลพินิจมิได้หมายความว่าฝ่ายปกครองมีอำนาจตัดสินใจอย่างใดๆ ก็ได้ตามอำเภอใจ การที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำเภอใจ[๑๒]ไม่ใช่เป็นการใช้ดุลพินิจแต่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ การใช้อำนาจตัดสินใจอย่างอิสระที่จะเลือกกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีเหตุผลอันสมควรภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย การใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย เริ่มจากการพิจารณาคำร้องหรือคำขอว่าได้ยื่นถูกต้องตามแบบ ขั้นตอน และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก่อนมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้องหรือคำขอ เมื่อได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้วต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาอย่างอิสระ   เป็นกลาง โปร่งใส ไม่บิดเบือนวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลขณะเดียวกันจะต้องสงวนและรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของส่วนรวมด้วย นอกจากนี้ การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองจะต้องไม่ฝ่าฝืนระเบียบภายในของฝ่ายปกครองที่วางไว้เป็นแนวปฏิบัติ ต้องใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุมีผลและไม่ขัดกับหลักกฎหมาย ส่วนการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แต่ละกรณี รวมถึงการใช้ดุลพินิจไม่เป็นไปตามสัดส่วนของการกระทำ(Principle of Proportionality) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายพื้นฐานที่กำหนดความสัมพันธ์ของผู้ใช้อำนาจปกครองกับผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองให้เกิดความสมดุลสมเหตุสมผลพอเหมาะพอควรแก่กรณี ได้แก่ หลักความเหมาะสม (Principle of Suitability) คือการใช้อำนาจให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามกฎหมาย หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) ต้องออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุดหรือทำให้รัฐเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ (Principle of Proportionality in the Narrow Sense)หากผลของคำสั่งทางปกครองเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายที่ประชาชนได้รับ[๑๓]
ขั้นตอนการใช้ดุลพินิจ[๑๔]  การใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองมี ๓ ขั้นตอน คือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริง  การปรับบทกฎหมาย และ การตัดสินใจ
                    ขั้นตอนแรก  การวินิจฉัยข้อเท็จจริงฝ่ายปกครองจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิด
ขึ้นจากพยานหลักฐาน และต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่เพียงพอต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าได้เกิดขึ้นหรือมีอยู่จริงหรือไม่ เมื่อได้ข้อเท็จจริงแน่ชัดแล้วจึงนำมาปรับกับบทกฎหมายในขั้นตอนที่สอง ซึ่งกฎหมายจะบัญญัติข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบโดยใช้ถ้อยคำที่มีความชัดเจนแน่นอน แต่บางกรณีกฎหมายบัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายกว้างๆ และไม่มีคำจำกัดความไว้ กรณีนี้ฝ่ายปกครองจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อเท็จจริงที่บัญญัติไว้ในกฎหมายโดยใช้วิจารณญาณเสมือนเช่นวิญญูชนโดยทั่วไปพึงเข้าใจ เช่น คำว่า การกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม  การกระทำอันน่ารังเกียจ เป็นต้น การที่กฎหมายบัญญัติถ้อยคำที่มีความหมายกว้างและไม่แน่นอน แสดงให้เห็นโดยปริยายว่า มีเจตนารมณ์ให้การปรับบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครองนั่นเอง เมื่อฝ่ายปกครองวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับบทกฎหมายแล้วขั้นตอนที่สามคือการตัดสินใจ ซึ่งต้องพิจารณาว่ากฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองกระทำการได้เพียงประการเดียวหรือหลายประการ หากกฎหมายให้อำนาจดุลพินิจฝ่ายปกครองจะกำหนดให้ฝ่ายปกครองมีทางเลือกตัดสินใจได้หลายทาง ดุลพินิจที่บัญญัติอยู่ในกฎหมายแบ่งได้เป็น ๒ ประการ คือ
                   ๑. ดุลพินิจตัดสินใจ ฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจหรือไม่ก็ได้  สังเกตได้จากถ้อยคำในกฎหมายมักใช้คำว่า มีอำนาจ มีสิทธิ อาจ...ก็ได้ เสียได้ สามารถ หรือ ควรจะ เป็นต้น
๒.ดุลพินิจเลือกกระทำ ฝ่ายปกครองมีอำนาจดุลพินิจว่าจะเลือกกระทำการใดในหลายประการให้สอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงหรือภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแยกได้เป็น ๒ กรณี คือ
    ๒.๑ ดุลพินิจที่จะเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในหลายประการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓มาตรา ๒๖  ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในที่หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนน ทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่างๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญ ในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัดและควบคุมเหตุรำคาญต่างๆ ได้  กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการหลายอย่างซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถเลือกกระทำการใดการหนึ่งได้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในแต่ละกรณีว่ากรณีใดควรใช้อำนาจระงับเหตุรำคาญ กรณีใดควรใช้อำนาจดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา เป็นต้น
    ๒.๒ ดุลพินิจเลือกกระทำได้เองภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดโดยกฎหมายไม่ได้กำหนดทางเลือกไว้     เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง  เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหน้าที่ควบคุมดูแลที่หรือทางสาธารณะเพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนทั่วไป ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหน้าที่ควบคุมดูแลที่หรือทางสาธารณะ คือ เพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนทั่วไป โดยมิได้กำหนดทางเลือกไว้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถกำหนดทางเลือกได้เองแต่ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ใช้สอยของประชาชนทั่วไป ตามขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
การควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง ตามหลักกฎหมายปกครอง การกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายเสมอ ดังนั้น การกระทำของฝ่ายปกครองจึงต้องถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายอยู่เสมอทั้งจากองค์กรภายในฝ่ายปกครอง
และจากองค์กรภายนอก การตรวจสอบโดยองค์กรภายในของฝ่ายปกครอง ผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้ ตามหลักกฎหมายปกครองที่ว่าคำสั่งทางปกครองสามารถอุทธรณ์ได้เสมอ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ได้วางหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๔๕ ประกอบ มาตรา ๓ ให้สิทธิประชาชนสามารถอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองได้แม้กฎหมายในเรื่องนั้นๆ จะไม่ได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้ก็ตาม  หรือการขอให้พิจารณาใหม่ ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  เมื่อคู่กรณีมีคำขอ เจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งทางปกครองแม้ว่าจะพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์แล้วก็ตาม นอกจากนี้ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ยังกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองไว้หลายประการ เช่น เรื่องความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่  การรับฟังความเห็นข้อโต้แย้งของคู่กรณี  การให้เหตุผลไว้ในคำสั่งทางปกครองหรือการจัดให้มีเหตุผลในการทำคำสั่งทางปกครอง เป็นต้น
การควบคุมตรวจสอบจากองค์กรภายนอก ได้แก่ 
ก.ศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร  การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ  และสัญญาทางปกครอง เป็นต้น  ศาลปกครองจะทำหน้าที่ตรวจสอบว่าฝ่ายปกครองได้กระทำการโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือไม่ เป็นองค์กรฝ่ายตุลาการที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายเป็นองค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยสุดท้าย[๑๕]
ข. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๖  ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย หรือการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง
                   สรุปแล้ว ดุลพินิจของฝ่ายปกครองเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติเพื่อให้ฝ่ายปกครองได้มีทางเลือกในการตัดสินใจกระทำการใดหรือไม่กระทำการใดเพื่อปรับใช้กฎหมายให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับข้อเท็จจริงตามยุคตามสมัยเพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ตามกฎหมาย การใช้อำนาจดุลพินิจของฝ่ายปกครองต้องเป็นไปอย่างอิสระปราศจากการแทรกแซงใดๆ มีความเป็นกลาง โปร่งใส เป็นธรรม และมีเหตุผลในการใช้อำนาจดุลพินิจที่เหมาะสมตรวจสอบได้ ซึ่งต่างกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจเพราะการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจแต่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  หากฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจหรือใช้อำนาจดุลพินิจไปโดยไม่ชอบก็อาจถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง  ศาลปกครอง หรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และอาจต้องรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยจากผลการกระทำนั้นได้                                                                                                                                                                                           


à โดย นายชำนาญวิทย์  เตรัตน์ (นบ.,นม.,นบท.,รม.) นิติกร ๘ ว สำนักกฎหมาย สป. ช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย
[๑] อำนาจดุลพินิจ คือ อำนาจที่กฎหมายให้ฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานของฝ่ายปกครองใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผลโดยอิสระที่จะพิจารณาเลือกตัดสินใจสั่งการหรือไม่สั่งการไปตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในแต่ละกรณีเพื่อประโยชน์ของประชาชน
[๒] อำนาจผูกพัน คือ อำนาจที่กฎหมายกำหนดให้ฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานของฝ่ายปกครองต้อง
ตัดสินใจออกคำสั่งเมื่อมีข้อเท็จจริงตามที่กฎหมายกำหนดจะใช้ดุลพินิจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง
[๓] อำพน  เจริญชีวินทร์, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง,พิมพ์ครั้งที่ ๓, (สำนักพิมพ์นิติธรรม: กรุงเทพมหานคร,๒๕๔๕),หน้า ๕๘.
[๔] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕๗-๕๘.
[๕]ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป,พิมพ์ครั้งที่ ๑๔(ประกายพรึก: กรุงเทพมหานคร,๒๕๔๒),หน้า ๑๑๔-๑๑๕.
[๖]พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙
 มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง  การออกคำสั่งทางปกครองเจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดข้อจำกัดดุลพินิจเป็นอย่างอื่น
[๗]พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙
  มาตรา ๕๐  คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ แต่ถ้าคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับ การเพิกถอนต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๕๑ และมาตรา ๕๒
[๘]พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙
 มาตรา ๒๘  ในการพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ต้องผูกพันอยู่กับคำขอหรือพยานหลักฐานของคู่กรณี
[๙]พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙
 มาตรา ๔[๙] วรรคสอง  ในการพิจารณาอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่คำนึงถึงประวัติการกระทำความผิดต่อกฎหมายของผู้ขออนุญาตตั้งสถานบริการประกอบด้วย
[๑๐] พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙
   มาตรา ๙  เมื่อได้รับคำขออนุญาตตั้งสถานบริการ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาสั่งภายในเก้าสิบวัน
[๑๑] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙
    มาตรา ๓๗  คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย
    (๑)  ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ
    (๒)  ข้อกฎหมายที่อ้างอิง
    (๓)  ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ
    นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายอาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้คำสั่งทางปกครองกรณีหนึ่งกรณีใดต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้นเองหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นก็ได้
ฯลฯ
[๑๒] อำเภอใจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การกระทำโดยเอาแต่ใจตัวไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น.
[๑๓]รศ.ดร. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, ข้อความคิดและหลักการพื้นฐานในกฎหมายมหาชน รวมบทความเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งแรก,(นิติธรรม:กรุงเทพมหานคร,๒๕๔๐),หน้า ๑๐๒-๑๐๗.
[๑๔] เฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์, ดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครอง, www.stabundamrong.go.th หน้า ๖-๑๐.
[๑๕] รศ.ดร.กมลชัย  รัตนสกาววงศ์,หลักกฎหมายปกครองเยอรมัน, (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: กรุงเทพมหานคร, ๒๕๔๔), หน้า ๒๕๕-๒๕๖.

อสัญแดหวา

เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่มาถึงประเทศจีนในช่วงศตวรรษแรกของคริสตกาล ก็ได้ปะทะสังสรรค์กับวัฒนธรรมซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี ในวัฒนะธรรมโบราณนี้ความคิดเชิงปรัชญาได้ถึงจุดสมบูรณ์สุดยอดในปลายราชวงศ์โจว ซึ่งนับเป็นยุคทองของปรัชญาจีน และก็ยังเป็นที่นับถืออย่างสูงสุดเรื่อยมา
ตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียวที่ปรัชญาจีนมีสองลักษณะที่เสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากชาวจีนเป็นผู้นิยมการปฏิบัติและมีสำนึกทางสังคมสูง ดังนั้นปรัชญาทุกสำนักของจีนจึงสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในสังคม มนุษยสัมพันธ์ คุณค่าทางศีลธรรมและรัฐบาลในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นส่วนคำสอนที่ลึกซึ้ง ซึ่งชี้แนะว่าจุดหมายสูงสุดของปรัชญานั้นอยู่เหนือสังคมโลกและชีวิตประจำวัน คือการเข้าสู่สภาวะจิตที่สูงส่ง ซึ่งเป็นระดับของนักปราชญ์ผู้รู้แจ้งทั้งหลาย ผู้บรรลุถึงความเป็นเอกภาพของจักรวาล
อย่างไรก็ตามนักปราชญ์ของจีนนั้นมิได้ดำรงอยู่เฉพาะในภูมิแห่งจิตที่สูงส่งเท่านั้น  ทว่ายังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางโลกอยู่เท่า ๆ กันในตัวท่านมีทั้งด้านที่เป็นปัญญาญาณและความรู้แห่งการปฏิบัติ ความสงบระงับ และปฏิบัติการทางสังคม คุณลักษณะเช่นนี้ได้ปรากฏในคุณลักษณะของนักปราชญ์และพระจักรพรรดิ จางจื้อ กล่าวไว้ว่ามนุษย์ผู้รู้แจ้งอย่างสมบูรณ์นั้น เมื่อสงบนิ่งอยู่ท่านคือปราชญ์ หากเมื่อเคลื่อนไหวท่านคือจักรพรรดิ
ในระหว่างศตวรรษที่ 6 ก่อนคริศตกาล ปรัชญาจีนในสองลักษณะดังกล่าวได้พัฒนาสู่ปรัชญาสองสำนักที่แยกกันชัดเจนคือ ลัทธิขงจื้อและลัทธิเต๋า
ลัทธิขงจื้อเป็นลัทธิที่จัดการองค์กรทางสังคม เป็นปรัชญาแห่งสามัญสำนึกและความรู้ในการดำเนินชีวิต ลัทธิขงจื้อได้เป็นรากฐานของระบบการศึกษาของสังคมจีนและค่านิยมในทางศีลธรรมจรรยาที่แข็งแกร่ง ความมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งคือการวางรากฐานทางจริยธรรมสำหรับระบบครอบครัวของจีน ด้วยคำสอนซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและพิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ ในทางตรงกันข้าม ลัทธิเต๋ามุ่งการสังเกตธรรมชาติและการค้นหาวิถีของธรรมชาติ หรือเต๋า ความสุขของมนุษย์ในทัศนะของเต๋าเกิดจากการที่มนุษย์ดำเนินตามกฎของธรรมชาติ กระทำการต่าง ๆ สอดคล้องกับธรรมชาติอย่างเป็นไปเอง และเชื่อมั่นในญาณปัญญา
ขงจื้อกับเต๋า
สองแนวคิดนี้ได้แทนขั้วตรงกันข้ามในปรัชญาจีน แต่ในประเทศจีนถือว่าเป็นขั้วเดียวกัน ดังนั้นจึงอยู่ในฐานะที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยทั่วไปลัทธิขงจื้อจะเน้นที่การศึกษาของเยาวชน ซึ่งจะต้องเรียนรู้กฎระเบียบและค่านิยมที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตในสังคม ในขณะที่ลัทธิเต๋าจะมีผู้สูงอายุยึดถือปฏิบัติ มุ่งที่จะแสวงหาและพัฒนาความเป็นไปเองตามธรรมชาติในชีวิตซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว แต่ได้ถูกทำลายไปโดยค่านิยมทางสังคม ในศตวรรษที่ 11 และ 12 ลัทธิขงจื้อแนวใหม่ได้พยายามที่จะสังเคราะห์ลัทธิขงจื้อ พุทธศาสนา และลัทธิเต๋าเข้าด้วยกัน ก่อกำเนิดเป็นปรัชญาของจูสีร์ นักคิดผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของจีน จูสีร์เป็นนักปราชญ์ที่สำคัญซึ่งรวมเอาความเป็นนักศึกษาของขงจื้อเข้ากับการเข้าใจชีวิตอย่างลึกซึ้งตามแนวพุทธและเต๋าสังเคราะห์ขึ้นเป็นปรัชญาของตน
ลัทธิขงจื้อตั้งชื่อตามท่าน กังฟูจื้อ หรือ ขงจื้อ ผู้เป็นครูเป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก ขงจื้อมีเป้าหมายหรือหน้าที่ประการสำคัญในการถ่ายทอดมรดกแห่งวัฒนธรรมโบราณแก่ลูกศิษย์ของตน อย่างไรก็ตาม ขงจื้อได้ปฏิเสธวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่สืบกันมาแบบปรัมปรา โดยตีความประเพณีต่าง ๆ ตามความคิดทางศีลธรรมของตนเอง
คำสอนของขงจื้อมีรากฐานอยู่บนคัมภีร์สุดยอดทั้งหก ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณอันบรรจุอยู่ด้วยปรัชญา พิธีกรรม กวีนิพนธ์  ดนตรี และประวัติศาสตร์ ถือเป็นมรดกทางจิตใจและวัฒนธรรมของนักปราชญ์ของจีนในอดีต ตามธรรมเนียมของจีนเชื่อกันว่าขงจื้อเป็นผู้ประพันธ์ ผู้วิจารณ์ และผู้จัดทำคัมภีร์เหล่านี้ แต่นักศึกษาสมัยใหม่ไม่ยอมรับเช่นนั้น ความคิดของขงจื้อเองเริ่มเป็นที่รู้จักกันในคัมภีร์  ลุ่นอวี้ (Lun Yu) หรือคัมภีร์หลักลัทธิขงจื้อ ซึ่งรวบรวมสรุปคำสอนต่างๆโดยลูกศิษย์บางคนของขงจื้อ
ผู้เป็นปรมาจารย์ของลัทธิเต๋าก็คือ เหล่าจื้อ ชื่อของท่านมีความหมายว่า อาจารย์ผู้เฒ่า” ท่านเป็นคนร่วมสมัยกับขงจื้อ ทว่ามีอายุมากกว่า เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เหลาจื้อเป็นผู้รจนาคัมภีร์สั้น ๆ ซึ่งรวมคำสอนสำคัญของเต๋าเอาไว้ ในประเทศจีนโดยทั่วไปเรียกคัมภีร์เล่มนี้ว่า เหลาจื้อ และในตะวันตกเรียกคัมภีร์เล่มนี้ว่า เต๋าเตอจิง แปลว่า จินตกวีนิพนธ์แห่งวิถีทางและอำนาจ”  ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลัง ข้าพเจ้าได้เอ่ยถึงวิธีการเขียนที่ผกผันผิดธรรมดาและสำนวนภาษาที่ทรงพลังในท่วงทำนองของกวีนิพนธ์ของคัมภีร์เล่มนี้ ซึ่งโจเซฟนีแดรมถือว่าเป็น งานที่ลึกซึ้งและงดงามที่สุดในภาษาจีน
คัมภีร์สำคัญอันดับสองของเต๋าคือคัมภีร์ จางจื้อ ซึ่งใหญ่กว่าเต๋าเตอจิงมาก ผู้รจนาคือจางจื้อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ราวสองร้อยปีหลังเหลาจื้อ อย่างไรก็ตามนักศึกษาสมัยใหม่เห็นว่า ทั้งคัมภีร์จางจื้อและเหลาจื้อมิใช่งานของผู้ประพันธ์เพียงคนเดียว แต่เป็นคัมภีร์ที่รวมบทประพันธ์เต๋าของผู้ประพันธ์หลาย ๆ คนในระยะเวลาต่าง ๆ กัน
            มุ่งหมายสิ่งเดียวกัน
ทั้งคัมภีร์หลักลัทธิขงจื้อและคัมภีร์เต๋าเตอจิง ประพันธ์ขึ้นในท่วงทำนองที่เสนอแนะอย่างกระชับ ซึ่งเป็นแบบฉบับของแนวคิดแบบจีน จิตใจแบบจีนไม่ถูกหน่วงอยู่ด้วยความคิดเชิงตรรกะแบบย่อสรุป และได้พัฒนาภาษาที่แตกต่างจากภาษาตะวันตกอยู่มาก คำหลายคำอาจใช้เป็นคำนาม คำวิเศษณ์ หรือคำกริยาและลำดับของคำในประโยคมิได้ถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยกรณ์มากเท่ากับเนื้อหาทางอารมณ์ของประโยค
คำในภาษาจีนดั้งเดิมแตกต่างจากสัญลักษณ์ย่อสรุปซึ่งแทนความคิดแยกแยะวิเคราะห์อย่างชัดเจนเป็นอันมาก มันเป็นสัญลักษณ์ทางเสียงเสียมากกว่าและมีพลังแห่งการนำเสนอความหมายที่รุนแรง ก่อให้เกิดภาพแห่งจินตนาการและอารมณ์ที่ซับซ้อนได้อย่างฉับพลัน ความตั้งใจของผู้พูดมิได้มุ่งแสดงความคิดที่เฉลียวฉลาดมากนัก แต่มุ่งที่จะให้เกิดผลกระทบอย่างมีอิทธิพลต่อผู้ฟังมากกว่า ในทำนองเดียวกันลักษณะตัวเขียนก็มิใช่สัญลักษณ์ย่อสรุปแต่เป็นแบบแผนของสิ่งที่ทรงชีวิต ที่เรียกว่า เกสตอลต์” ซึ่งรักษาจินตนาการและพลังแห่งการนำเสนอความหมายของคำนั้นไว้ได้อย่างสมบูรณ์
ด้วยเหตุผลที่นักปราชญ์ของจีนมีการแสดงออกทางภาษาที่เหมาะกับวิธีคิดของตน การเขียนการพูดของท่านเหล่านั้นจึงเป็นแบบที่ห้วนสั้น แต่มั่งคั่งด้วยจินตนาการ จินตนาการเหล่านี้ส่วนมากจะสูญหายไปเมื่อมีการแปลถ้อยคำเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น การแปลข้อความจากคัมภีร์เต๋าเตอจิงจะเก็บใจความได้เป็นส่วนน้อยจากความคิดที่มั่งคั่งในภาษาเดิม นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้คัมภีร์นี้หลายสำนวนดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฟุงยู่หลาน ได้กล่าวไว้ว่า ต้องรวมเอาคำแปลทุกสำนวนที่มีอยู่แล้ว และที่จะมีขึ้นเข้าด้วยกันจึงจะแสดงความหมายของคัมภีร์เหลาจื้อและคัมภีร์หลักของลัทธิขงจื้อได้อย่างสมบูรณ์ตามความหมายในภาษาเดิม
เช่นเดียวกับชาวอินเดีย ชาวจีนเชื่อว่ามีปรมัตถ์สัจจะซึ่งเป็นที่รวมและที่มาของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งหลายที่เราสังเกตได้
มีคำอยู่สามคำคือ สมบูรณ์”    “รวมทุกสิ่ง”  และ ทั้งหมด
คำเหล่านี้ต่างกัน แต่สัจจะซึ่งแฝงอยู่ในนั้นเหมือนกัน
มุ่งหมายถึงสิ่ง ๆ เดียว 
ชาวจีนเรียกสัจจะนี้ว่า เต๋า ซึ่งมีความหมายว่า ทาง” มันเป็นวิถีทางหรือกระบวนการของจักรวาล กฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ในระยะต่อมาผู้นับถือลัทธิขงจื้อได้ตีความหมายแตกต่างออกไป โดยกล่าวถึงเต๋าของมนุษย์ หรือเต๋าของสังคมมนุษย์ และรับเอาเป็นหนทางชีวิตที่ถูกต้องในศีลธรรม
ในความหมายเดิมในระดับกว้าง เต๋า” เป็นปรมัตถสัจจะซึ่งไม่อธิบายได้ ดังนั้นจึงเท่ากับพรหมันในศาสนาฮินดูและธรรมกายในศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตามมันแตกต่างจากความคิดทางอินเดียสองความคิดนี้ โดยคุณลักษณะแห่งความเป็นพลวัติของมัน เต๋าเป็นกระบวนการแห่งแห่งเอกภพซึ่งทุกสิ่งมีส่วนสัมพันธ์อยู่ด้วย โลกเป็นกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงอันต่อเนื่องไม่รู้สิ้นสุด
            หลักอนิจจัง
พุทธศาสนาเป็นหลักอนิจจังซึ่งคล้ายคลึงกับเต๋ามาก แต่ในพุทธศาสนาหลักอนิจจังถูกนำมาใช้เป็นหลักเบื้องต้นในการอธิบายสภาพการณ์ของมนุษย์เท่านั้นโดยได้แจกแจงรายละเอียดทางจิตวิทยาสืบเนื่องจากหลักการดังกล่าว ในทางตรงกันข้าม ชาวจีนมิได้เพียงแต่เชื่อว่าการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะสำคัญของธรรมชาติ แต่ยังเชื่อด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีแบบแผนที่แน่นอน ซึ่งมนุษย์สังเกตรู้ได้นักปราชญ์ได้เห็นถึงแบบแผนเหล่านี้ดังนั้นจึงมุ่งการกระทำของท่านให้สอดคล้องกับมัน โดยวิธีการเช่นนี้ท่านกลายเป็น หนึ่งเดียวกับเต๋า” มีชีวิตอยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และจึงสำเร็จในทุกสิ่งที่กระทำ ฮวยหนั่นจื้อ นักปราฃญ์ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่างศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาลได้กล่าวไว้ว่า 
ผู้กระทำตามวิถีทางแห่งเต๋า ปฏิบัติสอดคล้องกับกระบวนการธรรมชาติของฟ้าและดิน จะจัดการกับโลกได้อย่างง่ายดาย 
แล้วอะไรคือแบบแผนวิถีทางแห่งเอกภาพ ซึ่งมนุษย์ต้องรู้จักลักษณะสำคัญของเต๋าคือธรรมชาติแห่งการหมุนวนของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบเหลาจื้อกล่าวว่า การหมุนกลับคือการเคลื่อนไหวของเต๋า” และ ยิ่งไปได้ไกลหมายถึงการย้อนกลับ” ประเด็นสำคัญในที่นี้ก็คือ พัฒนาการทุกอย่างในธรรมชาติไม่ว่าในทางกายภาพหรือสภาพการณ์ของมนุษย์แสดงแบบแผนแห่งการหมุนไปและกลับ  แบบแผนแห่งการยืดขยายและหดตัว
ความคิดนี้ได้จากการสังเกตการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์และจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างไม่ต้องสงสัย  และได้ถูกยึดถือเป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต  ชาวจีนเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่สภาพการณ์หนึ่งใดได้พัฒนาไปจนถึงที่สุดในทางหนึ่ง  มันจะต้องหมุนย้อนกลับมาถึงที่สุดในอีกทางหนึ่ง  ความเชื่อพื้นฐานอันนี้ได้ให้ความกล้าหาญและอดทนในยามลำบาก ทำให้มัธยัสถ์ในยามที่ประสบความสำเร็จ และได้นำไปสู่หลักคำสอนแห่งหนทางอันเรืองรองซึ่งผู้นับถือลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื้อ เหลาจื้อกล่าวว่า นักปราชญ์ย่อมหลีกเลี่ยงความฟุ้งเฟ้อเกินพอดี และการทำตามอำเภอใจ
                                                                                           ฟริตจอฟ  คาปรา